Settaluck Legal | เมื่อคุณพ่อมีบ้านเล็ก
16726
post-template-default,single,single-post,postid-16726,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,qode-theme-ver-10.1.1,wpb-js-composer js-comp-ver-5.0.1,vc_responsive
 

เมื่อคุณพ่อมีบ้านเล็ก

เมื่อคุณพ่อมีบ้านเล็ก

เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร  หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตมานาน  ฟังเป็นเรื่องขำ ๆ แต่คงไม่ขำหากเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว  จากคุณพ่อผู้ทำงานหนักหาเงินหาทอง กลับบ้านดึกๆดื่นๆ ติดประชุม สัมนาต่างจังหวัด แต่แท้จริงกลายเป็นไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย นอกใจไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้หญิงอื่นเป็นภริยาอีกคน    จนคุณแม่จับได้ว่าคุณพ่อมี “เมียน้อย”  เป็นเรื่องเป็นราวว่าแล้วคุณแม่จะจัดการเมียน้อยและคุณพ่อตัวดีได้อย่างไร

คุณแม่พร้อมแล้วจริงหรือที่จะเลือกวิธีจัดการทางกฎหมาย  ซึ่งจะส่งผลตามมาโดยตรงต่อครอบครัวทั้งกระทบกับคุณลูก หรือจะเลือกหลับตาแกล้งมองไม่เห็นใช้วิธีให้คุณพ่อเบื่อเลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นนั้นเองและสร้างครอบครัวขึ้นกลับมาดีเหมือนเดิม  แต่คงมีคุณแม่ส่วนหนึ่งไม่ยอมเป็นแน่  และตกลงใจจะจัดการหญิงอื่นอย่างเด็ดขาดหลังจากจัดการคุณพ่อทางปฏิบัติไปเรียบร้อยเบื้องต้น  แล้วคุณแม่จะจัดการหญิงอื่นได้อย่างไรบ้าง

กฎหมายให้สิทธิภรรยาที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหญิงอื่นให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับภรรยา แล้วภรรยาจะเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ละ   ภรรยาบอกว่าโกธรมากเสียใจมาก เสียชื่อมาก อยากเรียก 100 ล้านได้มั้ย  ค่าเสียหายนั้นกฎหมายให้ดุลพินิจแก่ผู้พิพากษาเป็นผู้กำหนดความเสียหายขึ้นตามความเหมาะสม  แล้วเหมาะสมคืออะไรจะได้เงินกี่บาท ผู้พิพากษาจะพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการมากมายทั้งจากฝ่ายภรรยาว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ สังคมได้รับรู้มากเพียงใด ภรรยาเป็นผู้มีชื่อเสียงเพียงใด ความร้ายแรงของการรับรู้ของบุคคลภายนอกส่งผลกระทำเพียงใด รวมทั้งต้องพิจารณาถึงความร้ายแรงในการกระทำเช่น เปิดเผยต่อสาธารณะ ต่อสังคมที่ภรรยาร่วมอยู่ในสังคมนั้นเพียงใด เหตุผลของการเป็นหญิงอื่น ระยะเวลา และปัจจัยต่าง ๆ นานา ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะต้องพิจารณา

หากจำเป็นตัดสินใจดีแล้วว่าจะต้องดำเนินการทางกฎหมายแล้ว พยานหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายมีความสำคัญจำเป็นที่สุด การที่เมียน้อยจะกลายเป็นหญิงอื่นตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ภรรยาตามกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับว่าจับเมียน้อยได้หรือไม่ มีพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้มากน้อยเพียงใดว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย มิใช่สามารถกล่าวอ้างได้ลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐาน หรือมีแต่คำบอกเล่า ถึงเอาเข้าจริง ๆ หายหน้าหมดไม่ยอมไปศาลช่วยสักคน ก็จะกลายเป็นว่าศาลไม่เชื่อว่าเป็นหญิงอื่นที่ต้องรับผิดเพราะพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าได้กระทำผิด

งานเข้าคุณแม่ครับ เชื่อว่าอาจจะมีการฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายคืนจากการเบิกความเท็จ หรืออาจกลายเป็นภรรยาโดนศาลลงโทษแทนที่จะเป็นเมียน้อยโดนลงโทษ ซึ่งไม่คุ้มค่าเลย การวางแผนของที่ปรึกษากฎหมายมีส่วนสำคัญจำเป็นยิ่ง หลีกเลี่ยงทนายที่ตอบเพียงแต่ข้อกฎหมายถูกผิด แพ้ชนะ แล้วยุให้ฟ้อง โดยไม่ได้ป้องกันระวัง หรือวางแผนอย่างรอบครบ คุณภรรยาอาจม้วนเสื่อกลับบ้านพร้อมถูกฟ้องกลับ

แล้วคุณแม่เป็นภรรยาที่จะมีสิทธิในฐานะภรรยาตามกฎหมายแล้วหรือยัง คุณแม่ต้องรีบตรวจสอบโดยด่วนว่าได้จดทะเบียนสมรสแล้วหรือยัง  หากคุณยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสเท่ากับว่าคุณโสดทางกฎหมายแต่มีลูกพร้อมสามีในทางปฏิบัติ แล้วจะฟ้องหญิงอื่นได้หรือไม่   กฎหมายให้สิทธิแก่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ได้จดทะเบียนสมรสเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากมิได้จดทะเบียนสมรสคุณยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องกำจัดหญิงอื่นเรียกค่าเสียหายได้

กรณีคุณแม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหญิงอื่นไม่สะใจ อยากจัดการสามีตัวดีด้วยแล้วทำได้หรือไม่ เพราะคุณสามีเป็นตัวการในการก่อเรื่องขึ้นทั้งหมด  กฎหมายให้สิทธิเรียกค่าเสียหายจากสามีได้ด้วยแต่ต้องฟ้องหย่าสามีด้วยจึงจะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ แล้วหากกรณีเลยเถิดไปถึงศาลสั่งให้หย่า สั่งให้สามีรวมถึงหญิงอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้แล้ว  ก็จะต้องมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตรกันอีกไม่รู้จบ

แล้วทรัพย์สินระหว่างที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินกันจะแบ่งกันอย่างไร  หลายคนคิดว่าเป็นสินสมรสแบ่งกันคนละครึ่ง เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนอาละวาดเรื่องเมียน้อยหากคุณแม่ท่านนั้นยังคงต้องอาศัยกำลังทรัพย์จากสามีอยู่ เนื่องจากต้องพิจารณาว่าเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แสดงว่าจดทะเบียนสมรส กับไม่จดทะเบียนสมรส ได้ส่วนแบ่งไม่เท่ากันละสิ  ตอบว่าเกือบใช่ครับ

กรณีจดทะเบียนสมรสทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสเรียกว่าสินสมรส แบ่งกันคนละครึ่ง หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่มีสินสมรส  แล้วทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่อยู่กินด้วยกันเป็นของใครแบ่งกันอย่างไร  ทางกฎหมายเรียกว่ากรรมสิทธิร่วม ก็คือเป็นเจ้าของร่วมกันก็แบ่งกันคนละครึ่ง แต่เฉพาะที่ร่วมกันทำมาหากินร่วมกันเท่านั้น  ส่วนที่ต่างคนต่างหาอันนั้นไม่ได้เรียกว่าเป็นกรรมสิทธิร่วมเป็นของใครของมัน คงต้องวางแผนคิดให้ดีการหย่าจากเหตุมีหญิงอื่นไม่ใช่เพียงแค่ยุติการใช้ชีวิตคู่เพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลกระทบหลายๆอย่างตามมาที่คาดไม่ถึง เช่น อาจมีคดีแบ่งสินสมรส การฟ้องร้องแย่งอำนาจปกครองบุตร  การถูกฟ้องกลับเบิกความเท็จกรณีแพ้คดีเนื่องจากเตรียมพยานหลักฐานไม่ดีพอศาลไม่เชื่อว่าเป็นภรรยายน้อย ลูกขาดความอบอุ่น ต้องย้ายไปอยู่สองบ้าน เห็นทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีอีกฝ่าย เสียเงินเสียทองกับค่าทนาย ฯลฯ   รวมถึงติดตามเอาทรัพย์คืนจากเมียน้อย

ดังนั้นอย่าเพิ่งเชื่อทแนะ ทนายทั้งหลาย  คงต้องใช้สติ ปัญหาในการคิดแก้ปัญหาที่เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบต่อลูกน้อยในภายหน้าหากเลือกกำจัดเมียด้วยกฎหมาย

ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้” 

โดย ชัชวัสส์  เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ 

“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”

ฉบับเดือน กรกฏาคม 2559 (Vol.22 Issue 264 July 2015/ Page 104-105)