15 Nov คุณพ่อก่อหนี้ ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย คุณแม่และลูกๆต้องรับผิดชอบหรือไม่?
การแต่งงานและการจดทะเบียนสมรสกับหนุ่มธุรกิจใหญ่โต เป็นสามีภริยากันถูกต้องตามกฏหมายนั้น มักจะเป็นที่ใฝ่ฝันและความฝันสูงสุดของผู้หญิงทุกคนด้วยกันทั้งนั้น เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย มีเงินมีทองใช้ แต่ธุรกิจใหญ่โตทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นการกู้ยืมเงินธนาคารมาลงทุนในกิจการ แล้วหากภายหลังคุณสามีบริหารงานผิดพลาด หรือเกิดรับผลกระทบจากพิาเศรษฐกิจทำให้เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวตกเป็นบุคคลล้มละลาย ถูกยึดบ้านที่ดิน ทรัพย์สิน แล้วคุณแม่กับลูกๆ ต้องร่วมรับผิดชอบอย่างไรบ้าง
อ่านต่อ….
หนี้ ที่เกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนสมรส
กรณีที่สามีไปสร้างหนี้มาโดยที่เรารู้ หรือไม่รู้มาก่อนก็ตาม ก่อนจดทะเบียนสมรส เช่นก่อนที่ฝ่ายชายจะจดทะเบียนสมรสนั้นได้ไปกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจ 50 ล้าน เช่นนี้ ภริยาไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวที่สามีเป็นผู้ก่อ เพระาเป็นหนี้ที่มีมาก่อนการจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายจะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้เป็นการส่วนตัว จะให้ฝ่ายหญิงร่วมกันรับผิดด้วยไม่ได้ ประกอบกับหลักฐานแห่งการกู้ยืม หรือการก่อหนี้นั้นจะเป็นของสามี ไม่มีชื่อของฝ่ายหญิงอยู่การฟ้องร้องก็จะทำได้แต่ฟ้องร้องฝ่ายชายไม่สามารถฟ้องร้องฝ่ายหญิงหรือลูกได้
หนี้ ที่เกิดขึ้นหลังการจดทะเบียนสมรส
สามีและภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วนั้น สามีได้ไปกู้หนี้ยืมสินมาในระหว่างสมรส โดยหลักแล้วต้องเป็นหนี้ของสามี และภริยาร่วมกัน แต่ทว่ามีกรณีที่ว่าสามีไปกู้ยืมสินมาแล้วนำเงินไปใช้ส่วนตัว นำไปเล่นการพนัน ไม่ได้เอามาใช้จ่ายในครอบครัว และฝ่ายหญิงไม่ได้รับรู้หนี้สิ้นนี้ด้วย ดังนี้จะเห็นได้ว่าสามีกู้หนี้มาใช้จ่ายส่วนตัวไม่ใช่หนี้ร่วมกัน ฝ่ายหญิงจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับสามีด้วย (เทียบเคียงคดีที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้แล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีแดงที่ 159/2537)
ควรทำความเข้าใจข้อควรพิจารณาอีกซักนิดว่า หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากอะไร แล้วก่อหนี้มาใช้ทำอะไร โดยตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1490 แล้วนั้นแยกเป็นรายละเอียดให้พอเข้าใจได้ดังต่อไปนี้
หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวการอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ตัวอย่างเช่น สามีกู้เงินมาเพื่อซ่อมแซมบ้าน จ้างคนใช้ทำความสะอาดบ้าน ซื้อเสื้อผ้า อาหาร รถยนต์ใช้ในครอบครัวหรือสามีกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนค้าขายของตามตลาดนัด รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลของสามีภริยา คนในอุปการะของสามีภริยาด้วย ตลอดทั้งค่าส่งบุตรเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย แต่ต้องตามสมควรแก่อัตภาพของครอบครัวจึงจะถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งหนี้ประเภทนี้จะไปทางด้านเน้นบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเป็นหลัก และจำนวนหนี้ต้องพอสมควรแก่อัตภาพ
หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส (สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้เป็นหนังสือซึ่งพินัยกรรม หรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส หรือ ดอกผลของสินส่วนตัว) ตัวอย่างเช่น สินสมรสนั้นเป็นบ้าน หากสามี หรือภริยากู้เงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซ่ม ตกแต่งบ้าน หรือสินสมรสเป็นที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการถมที่ปรับปรุงสภาพดินที่เป็นสินสมรส เป็นต้น ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาด้วย
หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน เช่น สามีกู้ยืมเงินมาเพื่อเปิดร้านจำหน่ายสินค้าร่วมกัน ภริยาขอเป็นคนขายและทำบัญชีส่วนสามีนั้นขอเป็นคนติดต่อ และไปรับสินค้ามาขาย หนี้ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภริยา เช่นนี้ หากสามีไปกู้ยืมมา ฝ่ายหญิงก็ต้องร่วมรับผิดด้วย
หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันหนี้ร่วมของสามี หรือภริยาตามข้อนี้ เป็นหนี้ที่สามี หรือภริยาไปก่อให้เกิดขึ้นมาส่วนตัว ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของครอบครัว ซึ่งฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อหนี้ ฝ่ายนัั้นก็ต้องรับผิดชอบ ไม่สามารถให้สามี หรือ ภริยารับผิดร่วมกันได้ ทั้งนั้นหากแต่ถ้าสามีภริยาไปให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวจะถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาขึ้นมาทันที เช่น สามีไปค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อนไว้แก่ธนาคาร เมื่อธนาคารได้ทวงถาม และฟ้องคดีแล้วภริยาขอชำระเงินต้นแทน ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันเป็นหนี้ร่วมของภริยาด้วย (เทียบเคียงคดีที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีแดงที่2715/2520) ดังนั้น!! หากสามีไปก่อหนี้ส่วนตัวไม่ได้เกี่ยวกับครอบครัว หรือถูกฟ้องล้มละลาย (ล้มละลายเป็นเรื่องเฉพาะตัวของสามีผู้ล้มละลายเท่านั้น) และ ภริยาไม่ได้รับรู้ด้วย เช่นสามีไปกู้ยืมเงินมาเล่นการพนัน อันนี้สามีที่ก่อหนี้ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เท่ากับว่าทรัพย์สินส่วนตัวของสามีจะต้องเอาไปหักใช้หนี้หากไม่พอที่จะชำระหนี้แล้วค่อยมาหักจากทรัพย์สินสมรสที่ได้มาในระหว่างจดทะเบียนสมรสระหว่างสามีภริยา โดยเจ้าหนี้จะนำมาชำระหนี้ได้เฉพาะส่วนของสามีเท่านั้น เช่น สามีทรัพย์สินส่วนตัวคือเงินในธนาคาร 1 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับภริยา และเมื่อหลังจากจดทะเบียนสมรสสามีและภริยาได้ไปเปิดบัญชีใหม่ เอาเงินที่ทำมาหาได้ไปรวมกันไปฝากไว้ในบัญชีใหม่2ล้านบาท ปรากฏว่าสามีไปก่อหนี้มาเพื่อใช้ส่วนตัว3ล้านบาท เช่นนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกเงินในบัญชีของสามีที่เป็นทรัพยืสินส่วนตัวก่อนการจดทะเบียนสมรส 1 ล้านบาทได้ แต่เมื่อมันไม่พอใช้หนี้เพราะยังขาดอีก 1ล้านบาท เจ้าหนี้จะมาเรียกเก็บจากครึ่งหนึ่งของสินสมรสในบัญชีธนาคารที่สามีภริยาเปิดรวมกันหลังจดทะเบียนสมรสได้แค่เพียงอีก 1 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 1ล้านบาทที่เหลือจะเรียกไม่ได้ เพราะเป็นสินสมรสของฝ่ายภริยา เป็นต้น แต่ถ้าภริยาไปให้สัตยาบันรับว่าจะใช้หนี้แทน หรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ ถือว่าเป็นหนี้ร่วมของภริยาจะต้องร่วมรับผิดชอบกับสามีด้วย สำหรับลูกนั้น มิได้มีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดกับหนี้ ที่ทั้งพ่อและแม่ก่อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ส่วนตัว หรือหนี้ร่วม ถูกยึดทรัพย์สินส่วนตัว สินสมรสแล้วไม่พอชำระก็ไม่สามารถมาฟ้อง หรือยึดทรัพย์สินของลุกได้ เนื่องจากเป็นคนละบุคคลกัน จะกระทบต่อลูกเพียงแต่ไม่มีมรดกเหลือให้ลูกได้รับ หรือ หากมีมรดกอยู่เจ้าหนี้ก็ต้องบังคับชำระหนี้กับกองมรดก หากมีมรดกเหลือก็ต้องแบ่งให้แก่ทายาทซึ่งรวมถึงลูกด้วย แต่หากกองมรดกไม่พอชำระหนี้เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถที่จะยึดทรัพย์สินส่วนตัวของลูกได้
ด้วยเหตุผลนี้ บางส่วนจึงเป็นที่มาของนักธุรกิจหลายคนที่ไม่จดทะเบียนสมรส เพื่อไม่ให้หนี้ที่ก่อขึ้นมานั้นส่งผลกระทบกับฝ่ายหญิงและลูกที่อาจไม่ได้รับมรดก โดยอาจมีการใช้เทคนิคโอนทรัพย์มาให้แก่ฝ่ายหญิง และตกเป็นมรดกได้ตามกฏหมายในขณะที่สามีประกอบกิจการมีความเสี่ยงอยู่ก็เป็นได้
ที่มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้”
โดย ชัชวัสส์ เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ
“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”
ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2558 (Vol.23 Issue 268 November 2015/ Page 118-119)