15 Nov คุณครูลงโทษแรงเกินไปหรือเปล่า
ถ้าเย็นวันหนึ่งลูกกลับจากโรงเรียนมาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าถูกตีที่ก้นเป็นแผลเลือดออกหลายแผล จากความผิดคุยกันในห้องเรียนแล้วจะท่านจะทำอย่างไร
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายส่งบุตรหลานเข้าสู่รั้วโรงเรียนให้อยู่ในความดูแลสั่งสอนของครูบาอาจารย์ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่น่าจะยอมรับได้ และรู้ว่าการลงโทษบ้างหากทำผิดเป็นเรื่องปกติของนักเรียน หลายท่านก็ผ่านการถูกลงโทษมาที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ให้ยืนหน้าห้อง ให้วิ่งรอบสนาม ให้คัดลายมือ และหากผิดวินัยหนักขึ้นซ้ำ ๆ ก็อาจจะมีการตีบ้าง หนักบ้าง เบาบ้างโดย “ไม้เรียว”
หลายท่านเลี้ยงลูกมาไม่เคยตีเลย เคยตีบ้างแต่ไม่แรง บางท่านรับได้กับการที่ครูลงโทษด้วยการตี บางท่านรับไม่ได้หากจะตีลูก แตกต่างกันไป แล้วกฎระเบียบเรื่องการลงโทษของครูอาจารย์แท้จริงแล้วมันคืออะไร
ถาม ครูทำโทษนักเรียนโดยการตีผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ตอบ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้กำหนดวิธีการลงโทษไว้โดย ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความ ประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดการลงโทษของครูแบ่งออกเป็น 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ดังนั้น ครูจึงไม่มีสิทธิลงโทษด้วยการตีเด็ก ซึ่งกลายเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กโดยผิดกฎหมายนั่นเอง
ถาม ครูที่ลงโทษด้วยการตีเด็กมีผลอย่างไร
ตอบ หากครูฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกระทรวงศึกษาธิการ อาจถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายบุคคล รวมถึงยังต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งซึ่งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถเรียกค่าเสียหายเมื่อบุตรหลานของท่านถูกทำละเมิดร่างกายได้อีกด้วย
แต่ในทางปฏิบัติก็คงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ปกครองว่าจะดำเนินคดีเอาเรื่องกับครูที่ทำผิดหรือไม่ ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสม ดูจากเจตนาที่แท้จริง และข้อเท็จจริงจากการกระทำของลูก ซึ่งเหตุผลและมาตรฐานแต่ละครอบครัวก็คงแตกต่างกัน
ถาม เด็กมีสิทธิฟ้องร้องแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับครูที่ตีเขาได้หรือไม่ ?
ตอบ เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ยังไม่สามารดำเนินคดีเองได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเด็กจึงต้องดำเนินคดีแทนโดยแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่นั้น หรือฟ้องศาลโดยตรงในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่วนโทษของครูนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม เจตนาของครูและเด็ก รวมทั้งวิธีการลงโทษและการทำร้ายร่างกายว่าทารุณมากน้อยเพียงใด ลักษณะบาดแผล ผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต่อร่างกายและจิตใจของเด็กผู้ถูกกระทำ ซึ่งศาลท่านจะนำมาประกอบกับดุลพินิจในการลงโทษครูผู้กระทำความผิด และ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองยังมีสิทธิฟ้องร้องค่าเสียหายจากครูและโรงเรียนที่เป็นนายจ้าง ของครูได้อีกส่วนหนึ่ง
หากเกิดขึ้นกับลูกจริง จะกล้าฟ้องคดีให้ครูได้รับโทษจริงหรือ แล้วกว่าครูจะถูกสอบสวนได้รับโทษ หรือสอบสวนแล้วมีการช่วยเหลือกันบอกว่าไม่ผิด ลูกที่ยังต้องอยู่ในโรงเรียนนั้น ต้องเรียนกับครูคนนั้นอยู่จะทำอย่างไร จะโดนแกล้งอีกมั้ย เด็กจะกล้าไปเรียนมั้ย คงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา
บางท่านอาจเลือกดำเนินคดีพร้อมทั้งย้ายโรงเรียนในเมื่อยังย้ายครูไม่ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะส่งผลกระทบกับเด็กที่ต้องย้ายที่เรียน เปลี่ยนเพื่อนใหม่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่คงเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การแก้ไขโดยวิธีอื่นที่นุ่มนวลอย่างสันติวิธีไม่กระทบกับเด็ก และครูไม่กล้าดำเนินการอีก เช่น ปล่อยระยะเวลาให้ผ่านไปแล้วส่งหนังสือร้องเรียนให้ควบคุณมาตรการลงโทษไปยังครูใหญ่ หรือผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยไม่เปิดเผยชื่อ การแจ้งหน่วยงานผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนจากมีผู้ร้องเรียนไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งในความเป็นจริงก็น่าจะมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อหลายรายแล้วจนไม่ทราบว่าเป็นผู้ปกครองรายใดเป็นผู้ร้องเรียนกันแน่ แต่ดีที่สุดก็ควรไปพบพูดคุยรับฟังความเห็น สาเหตุ เหตุผลในการลงโทษครั้งนั้นแบบเปิดรับฟังอย่างเป็นมิตร เพื่อได้ทราบข้อเท็จจริง ซึ่งก็เชื่อว่าครูท่านนั้นก็น่าจะรับทราบถึงผลกระทบบางอย่างจนไม่กล้าทำอีก และไม่กล้าทำให้เกิดความไม่พอใจแก่เด็กและผู้ปกครอง อันทำให้ไม่เกิดเหตุดังกล่าวอีก แต่อีกมุมครูท่านนั้นอาจเกิดความโกรธขึ้นแกล้งเด็ก หาเรื่องเด็กอีกหนักกว่าเดิมหรือไม่ อันนี้ก็ต้องพิจารณาดูเป็นกรณีไป
ในกรณีที่เป็นแผลหนักหนาสาหัส ยังนึกอะไรไม่ออกว่าจะเดินหน้าให้ครูรับโทษหรือยอมรับสภาพไป แนะนำว่าให้เก็บหลักฐานไว้ให้เยอะที่สุด เช่น ถ่ายวีดีโอขณะลูกเล่าให้ฟัง ไปหาหมอขอใบรับรองแพทย์ ถ่ายรูป ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่แผลหลักฐานต่าง ๆ จะหายไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากจะแนะนำ ระวังการลงเผยแพร่ในโปรแกรมสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หรือในกลุ่ม Line ผู้ปกครองซึ่งหลายท่านมีอยู่ ที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทซึ่งจะกลายเป็นจำเลยในความผิดอีกเรื่องหนึ่ง จนลุกลามใหญ่โตจนส่งผลกระทบกับเด็ก ซึ่งมีคดีประเภทนี้อยู่จริง
มา: บทความในนิตยสาร “บันทึกคุณแม่” คอลัมส์ “กฎหมายน่ารู้”
โดย ชัชวัสส์ เศรษฐลักษณ์ ที่ปรึกษากฎหมาย-ธุรกิจ/ ทนายความ อดีตพิธีกรรายการ
“คุยกฎหมายกับทนายมวลชน”
ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2559 (Vol.23 Issue 271 February 2016/ Page 100-102)